สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัสในพิธีเปิดงานประชุมวิชาการนานาชาติ i-CREATe 2022 ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์แบบออนไลน์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัสในพิธีเปิดงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ครั้งที่ 15 หรือ i-CREATe 2022 ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์แบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2565 ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นางสาววันทนีย์ พันธชาติ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.เคนเนธ ฟอง ประธานจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ i-CREATe 2022 และ นายไซมอน หวอง ประธานจัดงานและประธานกลุ่มความร่วมมือ CREATe Asia พร้อมทั้งคณะกรรมการจัดงาน เข้าร่วมงานประชุมดังกล่าว
การประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ครั้งที่ 15 (The 15th International Convention on Rehabilitation Engineering and Assistive Technology : i-CREATe 2022) นับได้ว่าเป็นเวทีสำคัญในการนำเสนอผลงานวิชาการและนิทรรศการระดับนานาชาติด้านวิศวกรรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รวมทั้งเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการและผู้สูงอายุระหว่างผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับผู้ทรงคุณวุฒิในระดับสากล ซึ่งเกิดจากกลุ่มความร่วมมือด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกแห่งเอเชีย ภายใต้ชื่อว่า CREATe Asia โดยเป็นการรวมกลุ่มระหว่าง 15 องค์กร จาก 12 เขตเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ i-CREATe ซึ่งหมุนเวียนจัดในเขตเศรษฐกิจของสมาชิก CREATe Asia ตลอดมา พระองค์เสด็จทรงเปิดงานและทอดพระเนตรกิจกรรมด้วยพระองค์เองเป็นประจำทุกปี แม้นระหว่างมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ทรงมีพระราชดำรัสเปิดงานผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์แบบออนไลน์ นำความปลาบปลื้มมาสู่ผู้จัดงานและผู้ร่วมงานอย่างเป็นล้นพ้น
ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติ i-CREATe 2022 ประกอบด้วยการแสดงปาฐกถาพิเศษซึ่งมุ่งเน้นให้เป็นเวทีผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์แบบออนไลน์ที่ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก การอบรมเชิงปฏิบัติการและการนำเสนอผลงานวิจัยมุ่งเน้นให้เป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุระดับนานาชาติ (Global Student Innovation Challenge: gSIC 2022) เพื่อส่งเสริมนิสิตนักศึกษาให้มีความสนใจในการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ
นางสาววันทนีย์ พันธชาติ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ มีผลงานสิ่งประดิษฐ์จากนิสิตนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกและเข้าร่วมการประกวดรอบชิงชนะเลิศ จาก 5 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ประเทศไทย สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และไต้หวัน รวมทั้งสิ้น 40 ผลงาน การประกวดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (Technology Category) และผลงานด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (Design Category)
ผลปรากฏว่า ทีมเยาวชนไทยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กวาดรางวัลใหญ่ 2 เหรียญทองทั้งในด้านสิ่งประดิษฐ์และด้านการออกแบบนวัตกรรม
รางวัลเหรียญทองแรกเป็นด้านสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ได้แก่ ผลงาน “การออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์กายภาพแขนผ่านกลไกสะท้อนแบบสมมาตร (Design and development of physical therapy upper limb device with symmetrical reflections mechanism)” พัฒนาโดย นายเมธาสิทธิ์ เกียรติ์ชัยภา นางสาวธันยพร วงศ์วัชรานนท์ และ Mr.Abul Kashem Tahmid Shahriar อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ และ ผศ.ดร.พัชรี คุณค้ำชู จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ส่วนรางวัลเหรียญทองอีกรางวัลหนึ่งเป็นด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ได้แก่ ผลงาน “รถเข็นไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่ง่ายต่อการเคลื่อนย้ายผู้พิการทางขา หรือ Movere (New design power wheelchair for easy transfer)” พัฒนาโดย นางสาวธัญรดา วิริยะทรัพย์อุดม นายสุพศิน สมบุญดี และ นายกวิน สิริจันทกุล อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่นกัน
นอกจากนี้ ทีมเยาวชนไทยยังได้รับรางวัลอื่นอีก 5 รางวัล โดยแบ่งเป็นผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์ 2 รางวัล และ ผลงานด้านการออกแบบนวัตกรรม 3 รางวัล ดังนี้
ด้านสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ได้แก่ ผลงาน “เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างอนิเมชันล่ามภาษามือแบบสามมิติ (JustSigns)” พัฒนาโดย นางสาวนาราภัทร โมระกรานต์ นางสาวพลอยปภัส เพียรชูพัฒน์ และ นายชัชพล สุกิจพรอุดม อาจารย์ที่ปรึกษา นายนันทิพัฒน์ นาคทอง จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับรางวัลเหรียญเงิน
ผลงาน “การฝึกโดยใช้การสังเกตร่วมกับการใช้จินตนาการเพื่อฟื้นฟูการทำงานของแขนและมือ ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (AOMI-based BCI system for stroke patient’s upper extremity rehabilitation)” พัฒนาโดย นายณัฐวัฒน์ รุ่งศิริศิลป์ นางสาวกัญญา อารีย์รักษา นางสาวเปรมรวี ธีรวิชยางกูร นายฤทธิชัย ไพรบูรณ์ และ นายวิศรุต อนรรฆมงคล อาจารย์ที่ปรึกษา รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลชมเชย
ด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ได้แก่ ผลงาน “เครื่องช่วยพยุงการลุกขึ้นยืนหรือนั่งลงของผู้สูงอายุ (The sit-to-stand support device for the elderly)” พัฒนาโดย นายนูรุดดิน ยูโซะ นายอิทธิพันธุ์ เอี่ยมกิจ นายศาสตรพล สมใจ นางสาวชลธิชา พรหมจักร์ และ นางสาวหทัยชนก หนูเรือง อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ดร.จรูญรัตน์ ปริญญาคุปต์ ผศ.ธนกร อยู่โต และ ดร.กิติมา รงค์สวัสดิ์ จากวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง
ผลงาน “ไซท์แบนด์ อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการทางการเห็น (SightBand)” พัฒนาโดย นายธัชชัย ศรีมุนินทร์นิมิต นางสาวบุญธิชา แซ่เจี่ย และ Mr. Rodolfo Lian Paderon อาจารย์ที่ปรึกษา รศ. พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลผลงานต้นแบบยอดเยี่ยม (Best Prototype)
ผลงาน “เครื่องช่วยฟังมหัศจรรย์ (The amazing hearing devices (AHDs)” พัฒนาโดย นายวิทวัส สุดทวี นายพลิศ อนามบุตร นางสาวณจรีย์ จันทร์เจิดศักดิ นางสาวลลิดา อภิรมย์เดช และ นายพิจักษณ์ อารยาวิชานนท์ อาจารย์ที่ปรึกษา รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ และ ผศ.ดร. จำรัส พร้อมมาศ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลผลงานตามหลักสรีรศาสตร์ยอดเยี่ยม (Best Ergonomic)
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน