ชวนเที่ยวงานโรดโชว์อาวุธกับ พี่จ้อน พิชาม เอ๊ยไม่ใช่! พิจารณ์: ชวนดู F-35 กับโอกาสพัฒนาอุตสาหกรรมอาวุธภายในประเทศ
คนมักคุ้นชินกับบทบาทของพิจารณ์ในการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพ เพื่อให้การใช้งบเป็นไปอย่างโปร่งใส คุ้มค่า และนำไปสู่การพัฒนากองทัพที่เข้มแข็ง ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ ภายใต้คงามเชื่อว่า “กองทัพที่เข้มแข็งต้องลงทุนในยุทโธปกรณ์ที่มีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยุทโธปกรณ์ของไทย สร้างงาน สร้างรายได้ให้ประเทศ”
ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการจัดนิทรรศการ “Defense and Security 2022” จัดที่ IMPACT CHALLENGER เมืองทองธานี พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ หรือ “พี่จ้อน” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล จึงไม่รอช้าไปเข้าชมบรรยากาศในนิทรรศการนี้ว่าเทคโนโลยีอาวุธและการป้องกันประเทศก้าวหน้าไปถึงไหนแล้วบ้าง บรรยากาศภายในงานมีการแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงเทคโนโลยีด้านความมั่งคงของทั้งไทยและต่างประเทศ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่าในปัจจุบัน และอนาคต กองทัพไทยจะมีแผนในการจัดซื้ออุปกรณ์ชนิดใดบ้าง รวมถึงทิศทางในการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่มีอยู่ในต่างประเทศมาใช้เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันประเทศ
“การใช้จ่ายของกองทัพ ยังเต็มไปด้วยข้อสงสัย”
ภายในงาน พิจารณ์ได้มีโอกาสพูดคุยกับ บริษัท Lockheed Martin (บริษัทค้าอาวุธที่ใหญ่ที่สุดในโลก) ที่กองทัพไทยมีแผนจัดซื้อ F-35 (5th Generation Fighter) ไปแล้ว 2 ลำในงบฯ ปี 66 มูลค่ารวมทั้งโครงการกว่า 7,300 ล้านบาท โดยอาจต้องรอถึง 7 ปี กว่าจะได้ส่งมอบ ในขณะที่ ปัจจุบัน Lockheed Martin ยังมีการผลิต F-16 (4th Generation Fighter รุ่นก่อน F-35 และราคาถูกกว่า) และในหลายประเทศก็ยังมีการจัดซื้ออยู่ แต่เรากลับไม่เห็นว่ากองทัพมีการเปรียบเทียบความคุ้มค่าทางงบประมาณ ระหว่าง F-16 กับ F-35 เราไม่เคยได้รับเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกซื้อ F-35 เท่านั้น ในด้านราคา F-35 แพงกว่า F-16 เกือบ 1,000 ล้านบาทต่อลำ ยังไม่รวมถึงค่าบำรุงรักษา ที่ F-35 สูงกว่ามาก
บางท่านอาจจะบอกว่า ซื้อใหม่ทั้งที ทำไมไม่เลือกซื้อ F-35 ที่มีขีดความสามารถในการรบสูงกว่าไปเลยล่ะ ก็ต้องเรียนว่า การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า ความจำเป็น และภาระทางงบประมาณ ถามว่าเวลาซื้อรถยนต์ จำเป็นต้องซื้อรถที่มีสมรรถนะสูง หรูหราหมาเห่าอย่าง Ferrari หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ สิ่งที่กองทัพอากาศควรทำ คือการเปรียบเทียบทางเลือกอื่น ๆ จากเครื่องบินขับไล่ 4th Gen ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Gripen, F/A-18, KF-50 และอื่น ๆ รวมทั้งเจรจาจัดซื้อด้วยนโยบายชดเชย หรือ offset policy เพราะจากการพูดคุยกับ Lockheed Martin ทำให้รู้ว่า ทางบริษัท ก็มีการทำ offset policy หรือ นโยบายจัดซื้อแบบชดเชย ซึ่งเราอาจเจรจาเพื่อขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีอื่นๆที่ไม่ใช่ F-35 ก็ได้ (เพราะเค้าคงไม่ให้เทคโนโลยี F-35) เช่น เทคโนโลยีในการอัพเกรด เครื่องบิน C-130H ที่ไทยใช้ประจำการอยู่ เป็นต้น
จากที่เล่ามาจึงเป็นเหตุให้อนุมานได้ว่า กองทัพอากาศตั้งธงมาก่อนแล้วว่าจะต้องการจัดซื้อเครื่องบิน F-35 เท่านั้น โดยไม่มีความสมเหตุสมผลในการพิจารณาการลงทุนใช้จ่ายงบประมาณ การสนับสนุนของกองทัพในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาวุธภายในประเทศ สร้างงาน เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีบูธของบริษัทที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ก.กลาโหม กับบริษัทเอกชนในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอาวุธภายในประเทศ ได้แก่
- บริษัท ไทยดีเฟนส์อินดัสตรี จำกัด เพื่อผลิตและขายยานเกราะล้อยางไปต่างประเทศ
- บริษัทผลิตปืน Weapons Manufacture Industries (WMI) โดย สทป.ร่วมทุนกับ บริษัท สหพิพัฒนกิจ จำกัด และ บริษัท เอ็มตั้น คาร์เมียล จำกัด จากประเทศอิสราเอล
“แต่บริษัทที่ผมคิดว่าที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และดูจะเป็นไฮไลท์ ของ สทป. พอสมควร คือบริษัท ATIL (Aero Technology Industry Co.,LTD) ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับบริษัทเอกชนในไทย และ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และประเทศจีน ในการผลิต “อากาศยานไร้คนขับ” หรือ Unmanned Aerial Vehicle (UAV) ซึ่งภายในงานมีการเปิดตัว UAV 3 รุ่น อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก คือ 1.) DP20 ที่กำลังอยู่ในช่วงทดสอบของกองทัพบก 2.) DP-20A รุ่นติดอาวุธ ที่จะส่งมอบให้กองทัพบกในปี 2566 3.) DP16 ที่มีขนาดเล็กกว่า โดยมีการตั้งเป้าหมายที่จะผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในประเทศไทยและใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อตอบสนองต่อกองทัพและเพิ่มโอกาสการส่งออกในอนาคต” ส.ส.พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ กล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณที่ดีของกระทรวงกลาโหมในการนำงานวิจัยมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ แต่ที่เราต้องติดตามต่อไป คือหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้ 3 เหล่าทัพ และกองบัญชาการกองทัพไทยจะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านี้ และจัดหายุทโธปกรณ์จากบริษัทเหล่านี้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า มีเอกชนไทยบางรายแม้จะมีขีดความสามารถในการผลิต แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากกองทัพในรูปแบบของคำสั่งซื้อ หรือการร่วมวิจัยและพัฒนา
ท่านที่สนใจ งานจัดถึงวันที่ 1 ก.ย. ตั้งแต่เวลา 10.00 – 17.00 น. ที่ IMPACT CHALLENGER เมืองทองธานี Hall 1-2
Cr. พรรคก้าวไกล – Move Forward Party
31 สิงหาคม 2565