มท.1 ให้กำลังใจ ปชช. ชาวอยุธยาที่ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุ “หมาอ๊อน”
วันนี้ (29 สิงหาคม 2565) เวลา 14.00 น. พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่ตำบลกุฏีและตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และเยี่ยมเยือนให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ในการตรวจติดตามดังกล่าว ณ วัดโคกทอง ตำบลกุฏี อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และให้กำลังใจพี่น้องประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประสบภัยทุกครัวเรือน ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งรัดในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยทุกครัวเรือนอย่างเต็มที่ โดยในระหว่างนี้ให้เจ้าหน้าที่ช่วยกันดูแลเรื่องอาหาร น้ำดื่ม และที่อยู่อาศัยจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย สุดท้ายขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ได้ทุ่มเท ช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ด้วย
ด้าน นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากกล้องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนเข้าสู่พายุโซนร้อน “หมาอ๊อน” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ส่งผลให้ช่วงวันที่ 24-29 สิงหาคม 2565 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และน้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ 24 จังหวัด 56 อำเภอ 179 ตำบล 672 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบจำนวน 20,856 ครัวเรือน และมีผู้เสียชีวิต 1 รายที่จังหวัดเชียงราย โดยในปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 8 จังหวัด 21 อำเภอ 107 ตำบล 424 หมู่บ้าน
นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมใต้ถุนบ้านและพื้นที่การเกษตร มีพื้นที่ประสบอุทกภัย จำนวน 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล อำเภอบางไทร อำเภอบางปะหัน อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางปะอิน และอำเภอท่าเรือ รวม 78 ตำบล 347 หมู่บ้าน 4 ชุมชน 10,595 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 2,793 ไร่ และจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบและเฝ้าระวังพื้นที่สำคัญแบ่งเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่เขตพระราชฐาน โบราณสถาน และวัดที่สำคัญ 2.พื้นที่เขตเศรษฐกิจ นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ และ 3. พื้นที่ชุมชนหนาแน่น เขตเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และตั้ง War room ติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ รวมถึงประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 2 สุพรรณบุรี ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 14 นิ้ว จำนวน 7 เครื่อง อัตราการสูบ 28,000 ลิตรต่อนาที เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ จำนวน 3 ลำ เรือพาย 20 ลำ เสื้อชูชีพ 20 ตัว และรถยนต์ขนย้ายผู้ประสบภัย 2 คัน พร้อมเจ้าหน้าที่มาประจำและปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมอบถุงยังชีพจำนวน 4,828 ถุง
โดยศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้สูบน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรสะสม 11 วันปริมาณน้ำสะสม 988,120 ลูกบาศก์เมตร สำหรับการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ในวันนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 120 ชุด จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมบ้านและให้กำลังใจแก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยและมอบถุงยังชีพ จำนวน 2 ครัวเรือน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอให้พี่น้องประชาชน ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนักและคลื่นลมแรง จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงติดตามการแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ ไปจนถึงวันที่ 3 กันยายน 2565 เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ทำให้ยังคงมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ และทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร จึงขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองดังกล่าว ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นหรือต้องการแจ้งเหตุสาธารณภัย สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วนนิรภัย โทร. 1784 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กองสารนิเทศ สป.มท.
วันที่ 29 ส.ค. 65